บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทักษะชีวิต


ทักษะชีวิต หมายถึง  ความสามารถของบุคคลอันประกอบด้วย การมีความรู้  มีเจตคติที่ดี และมีทักษะที่สามารถจะจัดการกับปัญหาด้านใด ด้านหนึ่งของตนเองได้  เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้อย่างมีความสุขในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาและความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันและและสามารถปรับตัวและเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินชีวิตในอนาคต
      
องค์ประกอบของทักษะชีวิต  องค์ประกอบของทักษะชีวิตมี 10 องค์ประกอบ 3 ด้านคือ  ทักษะด้านความคิด
       - ทักษะการคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking)
       - ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking)
ทักษะด้านจิตใจ
       - ทักษะการตระหนักรู้ในตน (Self awareness)
       - ทักษะการเข้าใจผู้อื่น (Empathy)
ทักษะด้านการกระทำ
       - ทักษะการตัดสินใจ (Decision making)
       - ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving)
       - ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective communication)
       - ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal relationship)
       - ทักษะการจัดการกับอารมณ์ (Coping with emotion)
       - ทักษะการจัดการกับความเครียด (Coping with stress

                      ทักษะชีวิต  มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของบุคคล  เนื่องจากทักษะชีวิต เป็นความสามารถพื้นฐานที่ที่จำเป็นในการใช้เผชิญกับปัญหาที่พบและผ่านเข้ามาในชีวิตชีวิตประจำวันเช่น ปัญหาการเรียน การทำงาน  สุขภาพ  การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม  การปรับตัว  ความเครียด ครอบครัวแตกแยก ฯลฯ  และยังเป็นความสามารถที่มีความจำเป็นสำหรับการเผชิญปัญหาเฉพาะ เช่น ยาเสพติด โรคเอดส์ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ภัยธรรมชาติ ฯลฯ

วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทักษะที่จำเป็นสำหรับทีมงาน

จากการวิเคราะห์กิจกรรมต่างๆ ของมิติในการพัฒนาทีมงาน มีทักษะที่สัมพันธ์กับ การสร้างทีมงาน ดังนี้(๑) ทักษะในการติดต่อสื่อสาร
(๒) ทักษะการปฏิสัมพันธ์
(๓) ทักษะการเป็นผู้นำทีมงาน
(๔) ทักษะในการแก้ปัญหาและตัดสินใจ
(๕) ทักษะในการประชุมของทีมงาน
(๖) ทักษะในการบริหารความขัดแย้งเมื่อพิจารณาแต่ละทักษะจะเห็นว่าทั้งหมดมีพื้นฐานแนวคิดมาจากการศึกษาทางจิตวิทยา เกี่ยวกับมนุษย์และพฤติกรรม ซึ่งมีการศึกษาแตกแขนงออกไปได้หลายวิชา สำหรับเรื่องการสร้างทีมงานจะศึกษาในแนวคิด
ที่รวบรวมมาจาก ๖ ทักษะนี้ ซึ่งผู้เรียนต้องทำความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ในเบื้องต้นและค้นคว้าเพิ่มเติม
จึงจะสามารถบูรณาการความรู้ (Integrate) และนำไปประยุกต์ใช้ได้

กลยุทธ์สู่ความสำเร็จ


การดำเนินชีวิตคือการบริหารธุรกิจประเภทหนึ่งที่เป้าหมายสุดท้ายคือกำไร กำไรในที่นี้มิได้หมายถึงเงิน แต่หมายถึง “ความสำเร็จ” ดังนั้น ถ้าเป้าหมายของธุรกิจชีวิตเราคือความสำเร็จ เราคงต้องเริ่มบริหารชีวิตอย่างมีกลยุทธ์มากขึ้น คนหลายคนสูญเสียเวลา แห่งชีวิต ไปกับเรื่องที่ไร้สาระ ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปกับเข็มนาฬิกา ปล่อยให้โอกาสล่องลอยไปกับสายลมและแสงแดด คนหลายคนมีคำว่า “เสียดาย” อยู่เต็มหัว เพราะมารู้สึกตัวในเรื่องต่างๆ หรือคิดได้ก็สายไปเสียแล้ว กว่าจะรู้ว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ ก็เจ็บป่วยไปเรียบร้อยแล้ว กว่าจะรู้ว่าครอบครัวสำคัญก็มีปัญหาครอบครัวแตกแยกไปเรียบร้อยแล้ว กว่าจะรู้ว่าความสามารถยังไม่ถึง ก็ต่อเมื่อโอกาสดีผ่านไปแล้ว
เพื่อให้ชีวิตมุ่งไปสู่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของชีวิตคือความสำเร็จ เราคงต้องมีการบริหารชีวิตตามแนวทางการบริหารธุรกิจชีวิตอย่างจริงจัง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราไม่ได้ละเลย หลงลืม หรือแกล้งลืมทำบางสิ่งบางอย่างในชีวิตในเวลาที่ควรจะทำ พูดง่ายๆก็คือ ป้องกันคำว่า “เสียดาย” อย่าให้เกิดขึ้นกับชีวิตของเราเลย ผมจึงขอแนะนำแนวทางในการบริหารธุรกิจชีวิตดังนี้
1. กำหนดวิสัยทัศน์ของชีวิต (Life Vision)
เราต้องกำหนดเป้าหมายสูงสุดในชีวิตให้ชัดเจนว่าเราต้องการความสำเร็จอะไร เมื่อไหร่ เช่น ต้องการเป็นเจ้าของกิจการเมื่ออายุ 35 ปี ต้องการเป็นนักการเมืองเมื่ออายุ 40 ปี หรือต้องการมีเงินเก็บสัก 10-20 ล้าน ภายใน 10 ปี ฯลฯ คนหลายคนมักจะบอกว่า ไม่รู้จะกำหนดเป้าหมายชีวิตได้อย่างไร จะเริ่มต้นที่ไหน ผมขอแนะนำว่าการกำหนดวิสัยทัศน์ของชีวิตสามารถกำหนดได้ 2 ลักษณะคือ
ก) กำหนดจากความฝันของเราเอง ความฝันของเราอาจจะเกิดจากแรงดลใจบางอย่างในชีวิต หรือเกิดจากความยากลำบากในชีวิต เช่น บางคนฝันอยากทำงานมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็ก เพราะเคยเป็นเด็กกำพร้ามาก่อน
ข) กำหนดแบบอย่างความสำเร็จของผู้อื่น โดยเราอาจเลือกคนมาเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ให้กับตัวเอง หรืออาจจะกำหนดความสำเร็จของคนหลายคนรวมกันก็ได้ เช่น เราอยากเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จเหมือนนักเขียนบางคน หรือเราอยากเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กเหมือนเจ้าของธุรกิจบางคนที่ประสบความสำเร็จ
วิสัยทัศน์ของชีวิตเปรียบเสมือนดวงดาวบนท้องฟ้าที่ถึงแม้จะอยู่ห่างไกล แต่ก็สามารถสร้างพลังแสงสว่างให้กับเราได้ ในขณะเดียวกันวิสัยทัศน์ก็เปรียบเสมือนเข็มทิศที่จะนำพาชีวิตเราไปสู่ทิศทางที่ต้องการ โดยไม่ต้องเสียเวลาหลงทาง คนที่กำหนดวิสัยทัศน์ของชีวิตได้ชัดเจนย่อมได้เปรียบคนอื่นอย่างแน่นอน เพราะในแต่ละย่างก้าวของชีวิตย่อมเชื่อมโยงไปสู่เป้าหมาย และคงไม่ปล่อยให้ชีวิตก้าวออกนอกเส้นทางไปสู่เป้าหมายอย่างเด็ดขาด
2. วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง (SWOT Analysis)
เมื่อเรามีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนแล้ว เราก็ต้องกลับมาวิเคราะห์ตัวเราเองว่า ชีวิตเราส่วนไหนบ้างที่เป็น จุดแข็งจะสามารถนำพาเรา ไปสู่ จุดหมาย ที่กำหนดไว้ได้ มีจุดไหนบ้างที่เรายังต้องพิจารณาปรับปรุงเพื่อลดปัญหาอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างทาง เช่น เราต้องการเป็น เจ้าของธุรกิจที่ค้าขายกับต่างประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลก จุดแข็ง (Strengths) ของเราก็คือเรามีเงินลงทุนเพียงพอ เคยทำธุรกิจครอบครัว มาก่อน แต่จุดอ่อน (Weaknesses) ของเราคือ เราใช้ภาษาต่างประเทศไม่เก่ง หรือไม่ค่อยเข้าใจ วัฒนธรรมของ คนต่างชาติ
ในขณะเดียวกันเราก็คงจะต้องวิเคราะห์ว่าชีวิตของเรามีสภาพแวดล้อมภายนอกอะไรบ้างที่เอื้ออำนวย (Opportunities) และเป็นอุปสรรค (Threats) ในการเดินทางไปสู่จุดหมาย เช่น เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้าช่วยให้เราสามารถขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตได้ แต่เราจะต้องประสบกับปัญหาการกีดกันทางการค้าจากประเทศตะวันตกโดยเงื่อนไขทางการค้าหรือมาตรฐานสากลประเภทต่างๆ
การวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง โอกาสและปัญหาอุปสรรคในชีวิตนั้น จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเอง ยอมรับจุดบกพร่องของตัวเอง และพร้อมที่ จะพัฒนาให้ถูกต้องและเหมาะสมสอดคล้องกับเป้าหมายในชีวิตได้ ถ้าวิสัยทัศน์ของชีวิตคือ การเดินทางไปเชียงใหม่โดย รถยนต์ภายในเวลา 10 ชั่วโมง การวิเคราะห์ SWOT ของชีวิตก็เปรียบเสมือนการตรวจสภาพของรถยนต์ว่าสามารถวิ่งทางไกลได้หรือไม่ เครื่องร้อนเร็วหรือช้า ทำความเร็วได้กี่กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถวิ่งขึ้นเขาได้หรือไม่ มีส่วนไหนของรถที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาระหว่างทางได้บ้าง รวมถึง การวิเคราะห์ว่าเส้นทางที่เราไปนั้นมีบ้านคนมากหรือไม่ มีปั๊มน้ำมันมากหรือน้อย โอกาสที่ฝนจะตกมีมากหรือไม่
3. กำหนดปัจจัยสู่ความสำเร็จ (Critical Success Factors)
การกำหนดปัจจัยสู่ความสำเร็จหมายถึง การกำหนดว่าอะไรคือตัวที่สำคัญที่สุดที่จะนำเราไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ เช่น เราต้องการเป็นเจ้าของกิจการ ปัจจัยสู่ความสำเร็จอาจจะประกอบด้วย
  • เงินลงทุน เพราะถ้าเราไม่มีเงินเราคงเป็นเจ้าของกิจการไม่ได้
  • ความรู้ด้านการจัดการ เราในฐานะเจ้าของกิจการจะต้องมีความรู้ในธุรกิจนั้นๆ เพียงพอ
  • ลูกค้า เราต้องมีกลุ่มลูกค้าที่สนับสนุนสินค้าหรือบริการของเรา
  • บุคลากร ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการทำงานให้กับเรา
  • เทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้เรามีความได้เปรียบในการแข่งขัน
แต่ถ้าเป้าหมายชีวิตของเราคือ การเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง ปัจจัยสู่ความสำเร็จคือ
  • ความรู้ เพราะถ้าขาดความรู้คงไม่สามารถเขียนหนังสือหรือบทความได้
  • เทคนิคการเขียน เป็นศิลปะการเขียนที่มีเอกลักษณ์ช่วยเพิ่มสีสรรให้กับสิ่งที่เขียน
  • ผู้อ่าน เป็นผู้ที่บ่งบอกว่างานเขียนของเราประสบความสำเร็จหรือไม่
  • ประสบการณ์ คือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราก้าวไปสู่เส้นทางนักเขียน
เราจะเห็นว่าการมีวิสัยทัศน์เป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จนั้น ถึงแม้เงินลงทุนจะมีความจำเป็นแต่ก็ไม่ถือว่าเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญ ไม่เหมือนกับการเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ดังนั้น การกำหนดปัจจัยสู่ความสำเร็จในชีวิตนี้ จะช่วยให้เรามองเห็นความในชีวิตนี้ เราจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งใดมาก ให้ความสำคัญกับสิ่งใดน้อย จะช่วยให้เราสามารถจัดลำดับความสำคัญในชีวิตได้อย่างดียิ่งขึ้น เราจะเห็นว่าปัจจัยสู่ความสำเร็จของนักกีฬาส่วนมากต้องประกอบด้วยการมีสุขภาพที่แข็งแรง ดังนั้น การดูแลสุขภาพจึงเป็น เรื่องที่สำคัญที่สุด สำหรับความสำเร็จประเภทนี้ ในขณะที่ความสำคัญอันดับแรกๆของคน ที่เป็นนักเขียนคือการแสวงหาความรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา
4. กำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ (Strategic Aim)
เมื่อทราบเป้าหมายสูงสุดของชีวิตและทราบจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองแล้ว ก็ต้องเริ่มกำหนดเป้าหมายในเรื่องต่างๆ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น ถ้าต้องการเป็นเจ้าของกิจการ เราจะต้องมีเงินทุนอย่างน้อย 1 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเรามีเงินทุนเพียง 5 แสนบาท เราหลือเวลาอีก 5 ปีในการหาเงินทุนให้ครบ ดังนั้น เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในแง่ของเงินทุนเราคือ 5 แสนบาทภายใน 5 ปี
การกำหนดเป้าหมายกลยุทธ์ให้กับชีวิตในแต่ละด้าน จะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมได้ชัดเจนขึ้นว่าปัจจัยตัวไหนที่ยังอยู่ห่างจากเป้าหมาย ปัจจัยตัวไหนที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถจัดลำดับความสำคัญของการไปสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น เช่น เป้าหมายทางด้านเงินทุนไม่ค่อยยากนักเพราะมีเวลาเก็บเงินอีกหลายปี แต่เป้าหมายทางด้านความรู้และประสบการณ์ในการจัดการทางธุรกิจ เราอาจจะยังห่างจากเป้าหมายอยู่มาก ดังนั้น พฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของเราก็จะต้องทุ่มเทเวลา ในการหาความรู้และประสบการณ์มากกว่าการหาเงินทุน
5. กำหนดทางเลือก (Strategic Option)
ในแต่ละเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ย่อยๆ ในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็น เป้าหมายด้านเงินทุน เป้าหมายด้านความรู้และประสบการณ์ เราจะต้องกำหนด ทางเลือกขึ้นมา เพื่อให้มีความเหมาะสมกับตัวเราให้มากที่สุด เช่น เป้าหมายย่อยทางด้านเงินทุน เราอาจจะกำหนดทางเลือก ในการหาเงินลงทุนดังนี้
  • กู้เงินจากสถาบันการเงิน เงื่อนไขคือเราต้องมีหลักทรัพย์หรือการค้ำประกัน
  • กู้ยืมเงินจากญาติพี่น้อง เงื่อนไขคือญาติพี่น้องเรามีเงินหรือไม่ เขาไว้ใจเราหรือไม่
  • เก็บสะสมเงินด้วยตัวเอง เงื่อนไขคือต้องใช้เวลานาน
  • ระดมทุนจากหุ้นส่วน เงื่อนไขคือ กิจการนั้นต้องมีผู้ถือหุ้นหลายคน
คนหลายคนที่มักจะตายน้ำตื้นก็คือมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน วิเคราะห์ตัวเองดี มีการกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ไว้อย่างดี แต่พอมาถึง การหาทางเลือก คิดไม่ออก ไม่สามารถหาทางเลือกให้กับตัวเองได้ เพราะคนส่วนมากมักจะคิดในเชิงลบ เช่น คงไม่ไปไม่ได้หรอก เพราะต้องลงทุนเป็นล้าน คงจะยากนะที่จะไปขอกู้เงินเพราะเราไม่มีหลักทรัพย์ คนประเภทนี้มักจะตัดสินความคิดของตัวเองด้วยตัวเอง ทั้งๆที่บางคนคิดอาจจะเป็นจริงขึ้นมาได้ ถ้าเราได้ลองลงมือทำจริงๆ เราต้องทดลองทำก่อนแล้วค่อยตัดสินใจว่าใช่หรือไม่ใช่
เราคงเคยได้รับทราบประวัติของเจ้าของธุรกิจบางคนที่เริ่มต้นจากศูนย์ ไม่มีเงิน แต่มีความพยายาม มีความขยัน มีความสุจริต มีน้ำใจ วันหนึ่งสิ่งใดๆที่เขาเคยทำในอดีตอาจจะส่งผลต่อการแสวงหาทางเลือกของเขาได้ เช่น มีชายคนหนึ่งยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เดินไปขอกู้เงินที่ไหนก็ไม่มีใครให้เพราะไม่มีหลักทรัพย์อะไรเลย จนมาวันหนึ่งเขาเดินไปขอกู้เงินที่ธนาคารๆหนึ่ง พอเข้าไปคุยกับผู้จัดการแล้ว ผู้จัดการท่านนั้นไม่ได้ให้เขากู้เงิน ธนาคารหรอก แต่ให้เขากู้เงินส่วนตัวของเขาเอง เพราะเมื่อหลายปีก่อนผู้จัดการธนาคาร ผู้นี้เคยประสบอุบัติเหต ุเกือบเอาชีวิตไม่รอด ถ้าไม่ได้ชายคนนี้ช่วยเหลือไว้
จากเรื่องนี้ผมอยากให้ทุกคนคิดอยู่เสมอว่าทุกเส้นทางที่เราต้องการจะไปถึงนั้น มีทางออกอยู่เสมอ เพียงแต่ทางออกสำหรับชีวิตของเราเอง อาจจะแตกต่างจากคนทั่วไป อาจจะแตกต่างจากคนอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเบื้องหน้าและเบื้องหลังชีวิตของคนแต่ละคน จากตัวอย่างนี้ จะเห็นว่า ไม่ใช่คนทุกคนจะได้รับเงินกู้จากผู้จัดการธนาคารคนนี้ บางคนอาจจะได้รับเงินกู้จากภรรยาผู้จัดการธนาคาร บางคนอาจจะได้รับเงินให้เปล่า จากคนบางคน บางคนอาจจะได้คนมาร่วมลงทุนก็เป็นไปได้ ดังนั้นจะขอให้ทุกคนเชื่อว่า “ทุกปัญหามีทางออกเสมอ” แต่จะต่างกันตรง ที่มีความยากง่าย เร็วหรือช้าเท่านั้น
6. กำหนดแผนกลยุทธ์ (Strategic Plan)
เมื่อเราได้เลือกทางเลือกเชิงกลยุทธ์ในด้านต่างๆ ไปแล้ว เช่น เราจะหาเงินได้โดยการเก็บออมด้วยตนเอง เราจะแสวงหาความรู้เพิ่มเติม โดยการศึกษาต่อปริญญาโทการบริหารธุรกิจ เราจะหาประสบการณ์โดยเข้าไปทำงานกับธุรกิจครอบครัวที่เป็นมืออาชีพ เราจะอ่านหนังสือ ด้านการทำธุรกิจแบบมืออาชีพให้มากขึ้น เราต้องนำเอากลยุทธ์ในแต่ละด้าน มาจัดทำเป็น แผนเชิงกลยุทธ์ว่าในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต เราจะทำอะไรก่อนหลัง อะไรที่ทำควบคู่กันไปได้ พูดง่ายๆก็คือการเอาสิ่งต่างๆมาจัดทำตารางการดำเนินชีวิตให้ชัดเจนมากขึ้นว่าเราจะทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร นั่นเอง สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในเรื่องของการวางแผนเชิงกลยุทธ์ของชีวิตคือ ต้องมีแผนสำรอง (Contingency Plan) กรณีที่แผนที่วางไว้ไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ
7. นำไปปฏิบัติตามวงจร PDCA
เมื่อเรากำหนดแผนงานชีวิตไว้เรียบร้อยแล้ว (Plan) จึงจะลงมือนำไปปฏิบัติจริง (Do) จะต้องมีการตรวจสอบเป็นระยะๆ ว่าสิ่งที่ได้ลงมือทำไปนั้น เป็นไปตามแผนและเป้าหมายหรือไม่ (Check) หลังจากนั้นถ้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุง ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย (Action) ซึ่งเราจะต้องคำนึงถึงวงจรนี้อยู่ตลอดเวลา วงจร PDCA นี้ใช้ได้ทั้งวงจรของแผนใหญ่ของชีวิต และแผนสนับสนุนย่อยๆ เช่น แผนด้านการเงินก็ต้องใช้ PDCA แผนด้านการหาความรู้เพิ่มเติม ก็ต้องใช้วงจร PDCA เช่นเดียวกัน
จากแนวทางดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงจะสามารถจุดประกายให้ท่านผู้อ่านได้ลองหยุดคิดพิจารณาดูนิดหนึ่งว่า ชีวิตของเราได้ถูกกำหนดไว้เป็นระบบ และเป็นขั้นเป็นตอนหรือไม่ ทำไมเราจะมายืนอยู่ตรงจุดนี้ของชีวิตได้ เป็นเพราะเรา วางแผนธุรกิจชีวิตไว้ก่อนล่วงหน้าดี หรือเพราะดวงชะตาฟ้าลิขิต หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ แล้วช่วงเวลาแห่งชีวิตที่ยังเหลืออยู่ เราจะยังคงใช้วิธีการเดิมๆเดินไปสู่จุดหมายหรือเราจะต้องกำหนดแผนกลยุทธ์ชีวิตเสียใหม่ เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่สำคัญ และไม่จำเป็นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เราต้องเชื่อมั่นเสมอว่าผู้ที่วางแผนชีวิตได้ดีกว่า ย่อมมีโอกาสไปสู่เส้นชัยเหนือคนอื่นมากกว่าอย่างแน่นอน

ส่วนประกอบของทีม


ในการทำงานเป็นทีม จะต้องประกอบด้วย หัวหน้าทีม สมาชิกทีมงานและเลขานุการ ทุกคนจะมี การสื่อสารกันแบบ ๒ ทิศทาง (Two ways communication) ได้แก่ การส่งข้อมูลและการรับข้อมูล ทั้งการสื่อสารกับหัวหน้าและกับสมาชิกด้วยกันเองตลอดเวลา แต่ละส่วนมีรายละเอียดดังนี้
๑. หัวหน้าทีม
๑.๑ หัวหน้าทีมมีคุณลักษณะดังนี้
- เป็นที่ยอมรับนับถือของสมาชิกในกลุ่มด้วยความจริงใจ
- เปิดเผย จริงใจ ซื่อสัตย์ และเป็นกันเอง
- ไม่ใช้อิทธิพลครอบงำกลุ่ม เป็นประชาธิปไตยไม่เผด็จการ
- มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในงานสูง
- สามารถดำเนินการประชุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ไม่ผูกขาดการเป็นผู้นำกลุ่มตลอดเวลา
- พร้อมให้ความช่วยเหลือกลุ่ม
- สามารถสื่อสารผลงานของทีมให้สาธารณะชนเข้าใจได้
- มีวุฒิภาวะทางสังคม
- มีแรงจูงใจและแรงขับทางด้านความสำเร็จสูง
๑.๒ บทบาทและหน้าที่สำคัญของหัวหน้าทีม
- รับนโยบายจากองค์การ
- กำหนดเป้าหมาย แนวทางและขั้นตอนในการปฏิบัติ
- มอบหมายงานแก่สมาชิก
- สร้างบรรยากาศด้วยการจูงใจ เสริมแรง ให้กำลังใจ
- ใช้เทคนิคเผชิญความขัดแย้งไม่ว่าเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว
- อำนวยความสะดวก ให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาต่างๆ
- ประเมินผลงานและผู้ร่วมงาน
ผู้ร่วมงาน
๒. สมาชิกของทีมงาน

๒.๑ คุณลักษณะของสมาชิกของทีมงาน
- สามารถรับผิดชอบงานในหน้าที่ของตนและของกลุ่ม
- เป็นผู้รู้จักฟัง รู้จักพูด และแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่ม
- ยอมรับฟังและเคารพความคิดเห็นของเพื่อนสมาชิก
- เคารพมติของกลุ่ม และป้องกันมิให้เบี่ยงเบนมติของกลุ่มออกไป
- เป็นผู้เสียสละ อาสาช่วยทำงานทุกด้าน
- กล้าแสดงความคิดเห็น
๒.๒ บทบาทและหน้าที่สำคัญของสมาชิก
- รับมอบหมายงานจากหัวหน้าทีม
- ปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบให้บรรลุเป้าหมายของทีมงาน
- ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาต่างๆ
- เป็นผู้ตามที่ดี
- ตั้งใจจริงในการทำงาน
- คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม
- คำนึงถึงความสำคัญของทีมงาน
๓. เลขานุการ
๓.๑ คุณลักษณะของเลขานุการกลุ่ม
- มีความสามารถในการเขียนหนังสือดี
- สามารถจับประเด็นการพูด การปรึกษาหารือของกลุ่มได้ดี
- สามารถสรุปผลการประชุมและทำรายงานให้สมาชิกได้ทราบ
- มีความรู้และประสบการณ์ในการเสนอรายงานอย่างมีแบบแผน
- สามารถเขียนแผนผัง กราฟ ชาร์ท ได้
๓.๒ บทบาทและหน้าที่สำคัญของเลขานุการ
- รับคำสั่งจากหัวหน้าหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
- ส่งข่าวสารที่รับมาไปยังบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ประสานงานระหว่างผู้บังคับบัญชาและถ่ายทอดสิ่งผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอให้นายได้รับรู้
- มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีแบบสร้างสรรค์ต่อทุกๆ คน

ขั้นตอนในการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ

ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 4 ขั้นตอนคือ
1. ทำความเข้าใจอย่างชัดเจนในเหตุผลสำหรับการตัดสินใจ
2. วิเคราะห์ลักษณะของปัญหาที่จะตัดสินใจ
3. ตรวจสอบทางเลือกต่างๆ ในการแก้ปัญหาโดยพิจารณาถึงผลที่อาจเกิดตามมาด้วย
4. การนำเอาผลการตัดสินใจไปปฏิบัติ

การทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ

1. วัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและเป้าหมายที่เห็นพ้องต้องกัน เพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงาน
ที่ต้องการทำให้องค์การบรรลุผลสำเร็จที่คาดหวังไว้ในการดำเนินงานให้เป็นไปตามภารกิจ
ขององค์การ
- การกำหนดวัตถุประสงค์ที่ดี โดยให้ผู้นำและสมาชิกภายในทีม มีส่วนร่วมในการกำหนด
หน้าที่ความรับผิดชอบและวัตถุประสงค์ร่วมกัน ควรกำหนดจุดมุ่งหมายไว้ให้ชัดเจนที่ผล
งานมากกว่าการกระทำ
- ประโยชน์ของการกำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ใช้เป็น
เครื่องมือในการรวมพลังในการทำงาน และใช้เป็นเครื่องมือวัดความสำเร็จหรือความ
ล้มเหลวในงาน
- คุณลักษณะของวัตถุประสงค์ที่ดี คือ เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เข้าใจได้ง่าย
สามารถปฏิบัติได้จริง ไม่ขัดต่อข้อบังคับและนโยบายอื่นๆในหน่วยงาน 
2. ความเปิดเผยต่อกันและการเผชิญหน้าเพื่อแก้ปัญหา เป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงานเป็น
ทีมที่มีประสิทธิภาพ สมาชิกในทีมจะต้องการแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย
ตรงไปตรงมา แก้ปัญหาอย่างเต็มใจและจริงใจ การแสดงความเปิดเผยของสมาชิกในทีม
จะต้องปลอดภัย พูดคุยถึงปัญหาอย่างสบายใจ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกัน
เป็นอย่างดี โดยมีการเรียนรู้เกี่ยวกับบุคคลอื่นในด้านความต้องการ ความคาดหวัง
ความชอบหรือไม่ชอบ ความรู้ความสามารถ ความสนใจ ความถนัด จุดเด่นจุดด้อยและ
อารมณ์ รวมทั้งความรู้สึก ความสนใจนิสัยใจคอ
3. การสนับสนุนและความไว้วางใจต่อกัน สมาชิกในทีมจะต้องไว้วางใจซึ่งกันและกัน
โดยทีละคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องกลัวว่าได้รับ
ผลร้ายที่จะมีต่อเนื่องมาภายหลัง สามารถทำให้เกิดการเปิดเผยต่อกัน และกล้าที่จะเผชิญ
หน้าเพื่อแก้ปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดี
4. ความร่วมมือและการให้ความขัดแย้งในทางสร้างสรรค์ ผู้นำกลุ่มหรือทีมจะต้องทำ
งานอย่างหนักในอันที่จะทำให้เกิดความร่วมมือดังนี้
4.1 การสร้างความร่วมมือกับบุคคลอื่น ในการสร้างความร่วมมือเพื่ความเข้าใจซึ่งกันและ
กันและมีบุคคลอยู่สองฝ่ายคือ ผู้ขอความร่วมมือ และผู้ให้ความร่วมมือ
ความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้เมื่อฝ่ายผู้ให้เต็มใจและยินดีจะให้ความร่วมมือ
เหตุผลที่ทำให้ขาดความร่วมมือไม่ช่วยเหลือกัน คือ การขัดผลประโยชน์ ไม่อยากให้คนอื่น
ได้ดีกว่า สัมพันธภาพไม่ดี วัตถุประสงค์ของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน ไม่เห็นด้วยกับวิธีทำงาน
ขาดความพร้อมที่จะร่วมมือ หรืองานที่ขอความร่วมมือนั้น เลี่ยงภัยมากเกินไป หรือเพราะ
ความไม่รับผิดชอบต่อผลงานส่วนรวม
4.2 การขัดแย้ง หมายถึง ความไม่ลงรอยกันตามความคิด หรือ การกระทำที่เกิดขึ้นระหว่าง
สองคนขึ้นไป หรือระหว่างกลุ่ม โดยมีลักษณะที่ไม่สอดคล้อง ขัดแย้ง ขัดขวาง ไม่ถูกกัน
จึงทำให้ความคิดหรือการทำกิจกรรมร่วมกันนั้น เสียหาย หรือดำเนินไปได้ยากไม่ราบรื่น
ทำให้การทำงานเป็นทีมลดลง นับเป็นปัญหา อุปสรรคที่สำคัญยิ่ง
- สาเหตุของความขัดแย้ง ผลประโยชน์ขัดกัน
- ความคิดไม่ตรงกัน หรือ องค์กรขัดแย้งกัน 
 - ความรู้ความสามารถต่างกัน ทำให้มีลักษณะการทำงานต่างกัน
- การเรียนรู้ต่างกัน ประสบการณ์ที่มีมาไม่เหมือนกัน
- เป้าหมายต่างกัน
4.3 วิธีแก้ความขัดแย้ง การแก้ความขัดแย้งเป็นเรื่องของทักษะเฉพาะบุคคล การแก้ปัญหา
ความขัดแย้งในการทำงานเป็นทีม ควรใช้วิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่พูดในลักษณะที่
แปลความหรือมุ่งตัดสินความ ไม่พูดในเชิงวิเคราะห์ ไม่พูดในลักษณะที่แสดงตนเหนือกว่า
ผู้อื่น  หรือไม่พูดในลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด เสียหน้า อับอาย เจ็บใจ หรือการพยายาม
พูดหาประเด็นของความขัดแย้ง ไม่กล่าวโจมตีว่าใครผิดใครถูก
5. กระบวนการการทำงาน และการตัดสินใจที่ถูกต้องและเหมาะสม งานที่มีประสิทธิภาพนั้น
ทุกคนควรจะคิดถึงงานหรือคิดถึงผลงานเป็นอันดับแรก ต่อมาควรวางแผนว่าทำอย่างไร
งานจึงจะออกมาดีได้ดังที่เราต้องการ อย่างไรก็ตามก่อนที่จะตัดสินใจนั้นจุดมุ่งหมาย
ควรจะมีความชัดเจนและสมาชิกทุกคน ควรมีความเข้าใจในจุดมุ่งหมายของการทำงาน
เป็นอย่างดี
จุดมุ่งหมายที่ชัดเจนถือเป็นหัวใจสำคัญด้วยเหตุนี้จุดมุ่งหมายควรต้องมีความชัดเจนและ
สมาชิกทุกคนมีความเข้าใจอย่างดี เพราะจะนำไปสู่แนวทางแนวทางในการทำงานว่าต้องทำ
อย่างไร จึงจะบรรลุตามเป้าหมายของงาน ให้ได้ผลของงานออกมาได้อย่างดีที่สุด
การตัดสินใจสั่งการเป็นกระบวนการขั้นพื้นฐานของการบริหารงาน ผู้บริหารหรือผู้นำทีม
เป็นบุคคลสำคัญในการที่จะมีส่วนในการตัดสินใจ วิธีการที่ผู้บริหารใช้ในการตัดสินใจ
หลายวิธีคือ ผู้บริหารตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหา โดยไม่ต้องซักถามคนอื่นหรือผู้บริหารจะรับฟัง
ความคิดเห็นก่อนตัดสินใจ กล่าวคือ ผู้บริหารยังคงตัดสินใจด้วยตนเองแต่ขึ้นอยู่กับความ
คิดเห็นและข้อมูลอื่นๆ ที่ผู้บริหารได้รับมาจากสมาชิกของทีม บางครั้งผู้บริหารอาจจะตัดสิน
ใจร่วมกับทีมงานที่คัดเลือกมาโดยที่ผู้บริหารนำเอาปัญหามาให้ทีมงานอภิปราย แล้วให้
ทีมงานตัดสินใจหรือทีมงาน อาจจะมอบหมายการตัดสินใจให้คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มย่อย
ที่เห็นว่าเหมาะสมก็ได้

6. ภาวะผู้นำที่เหมาะสม ผู้นำ หรือ หัวหน้าทีมควรทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะประเด็นที่สำคัญ
ในการทำงานตามบทบาทของผู้นำ คือ การแบ่งงาน กระจายงานให้สมาชิกทุกกลุ่มตาม
ความรู้ ความสามารถ สำหรับสมาชิกของทีมงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้นำ ต้องพร้อม
ที่จะทำหน้าที่ให้เหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย โดยการให้การสนับสนุนนำทีมให้
ประสบความสำเร็จ ส่งเสริมให้มีบรรยากาศที่ดีในการทำงานเป็นทีม มีการพัฒนาบุคลากร
และทีมงาน
7. การตรวจสอบทบทวนผลงานและวิธีในการทำงาน ทีมงานที่ดีไม่เพียงแต่ดูจากลักษณะ
ของทีม และบทบาทที่มีอยู่ในองค์กรเท่านั้น แต่ต้องดูวิธีการ ที่ทำงานด้วยการทบทวนงาน
และทำให้ทีมงานได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ทำรู้จักคิด การได้รับข้อมูลป้อนกลับเกี่ยวกับ
การปฏิบัติงานของแต่ละคนหรือของทีม
8. การพัฒนาตนเอง การทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพพยายามที่จะรวบรวมทักษะต่างๆ
ของแต่ละคน การพัฒนาบุคลากรในองค์การมักจะมองในเรื่องทักษะและความรุ้ที่แต่ละคน
มีอยู่แล้ว ก็ทำการฝึกอบรมเพื่อปรับปรุงพัฒฯคนให้มีความสามารถสูงขึ้น อันจะมีผลดีใน
การทำงานให้ดีขึ้น ผู้บริหารหรือผู้นำต้องมีความรู้ในการบริหารคนสามารถสอนพัฒนาคน
ให้มีลักษณะที่ดีขึ้น

ชนิดของทีมงาน

การแบ่งทีมในองค์กรสามารถที่จะแบ่งประเภท ตามวัตถุประสงค์ได้ 4 รูปแบบคือ
1. ทีมแก้ปัญหา (Problem - Solving Teams) ประกอบด้วยกลุ่มของพนักงาน และ
ผู้บริหารซึ่งเข้ามารวมกลุ่มด้วยความสมัครใจ และประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ
เพื่ออภิปรายหาวิธีการสำหรับการแก้ปัญหา โดยทั่วไปทีมแก้ปัญหาทำหน้าที่เพียง
ให้คำแนะนำเท่านั้น แต่จะไม่มีอำนาจที่จะทำให้เกิดการกระทำ ตามคำแนะนำ
ตัวอย่างของทีมแก้ปัญหาที่นิยมทำกัน คือ ทีม QC (Quality Circles)
2. ทีมบริหารตนเอง (Self - Managed Teams) หมายถึง ทีมที่สมาชิกทุกคนล้วน
รับผิดชอบต่อลักษณะทั้งหมดของการปฏิบัติงานอย่างแท้จริง โดยเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร
ซึ่งสมาชิกจะปฏิบัติงานโดยทั่วไป มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบสำหรับงาน
ทีมบริหารตนเองสามารถที่จะเลือกสมาชิกผู้ร่วมทีม และสามารถให้สมาชิกมีการตรวจสอบ
ซึ่งกันและกัน
 3. ทีมที่ทำงานข้ามหน้าที่กัน (Cross - Function Teams) เป็นการประสมประสาน
ข้ามหน้าที่งาน ความสามารถในการดึงทรัพยากรบุคคลผนวกเข้าด้วยกันจากหน้าที่
ทางธุรกิจที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างสมรรถภาพในด้านความแตกต่าง โดยเป็นการใช้
กำลังแรงงาน ตั้งเป็นทีมข้ามหน้าที่ชั่วคราวซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคณะกรรมการ
(Committees) เข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน, พัฒนาความคิดใหม่ๆ ร่วมมือกันแก้ปัญหา
และทำโครงการที่ซับซ้อน ทีมข้ามหน้าที่ ต้องการเวลามากเพื่อสมาชิกจะต้องเรียนรู้งาน
ที่แตกต่าง ซับซ้อน และต้องใช้เวลาในการสร้างความไว้ใจ และสร้างการทำงานเป็นทีม
เนื่องจาก แต่ละคนมาจากภูมิหลังที่แตกต่างกัน
4. ทีมเสมือนจริง (Virtual Teams) ลักษณะการทำงานจะเป็นทีม แต่สภาพการทำงาน
จะแยกกันอยู่ ดังนั้นจึงต้องการระบบในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันที่มีประสิทธิภาพ
ซึ่งอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทีมจะมุ่งเน้นความสำเร็จของงานเพื่อให้บรรลุ
เป้าหมายของงานร่วมกัน แต่จะมีการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ด้านความรู้สึกทางสังคม
ในระดับต่ำ
ข้อควรระวัง : การทำงานเป็นทีมไม่ได้เป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหาเสมอไป เนื่องจาก
การทำงานเป็นทีมต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากกว่าการทำงานคนเดียว
ยกตัวอย่างเช่น
• ต้องเพิ่มการติดต่อสื่อสารมากขึ้น
• ต้องบริหารความขัดแย้งระหว่างกัน
• ต้องมีการจัดการประชุม
• ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
อย่างไรก็ตามในบางกรณีผลประโยชน์ที่ได้จากการทำงานเป็นทีมก็จะได้รับผลตอบแทน
ที่คุ้มค่า ดังนั้น ผู้บริหารต้องทำการประเมินว่างานใดควรทำคนเดียว และงานประเภทใด
ที่ต้องใช้ความร่วมมือของทีม
คำถาม 3 ข้อ เพื่อดูว่าควรใช้วิธีการทำงานเป็นทีมในการทำงานหรือไม่
1. งานนั้นสามารถทำได้ดีขึ้นหรือไม่ หากใช้คนมากกว่าหนึ่งคน
2. งานนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อทุกคนในกลุ่ม หรือ เพื่อคนใดคนหนึ่ง
3. การเลือกใช้ประเภทของทีมให้เหมาะสมกับสถานการณ์