บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กลยุทธ์สู่ความสำเร็จ


การดำเนินชีวิตคือการบริหารธุรกิจประเภทหนึ่งที่เป้าหมายสุดท้ายคือกำไร กำไรในที่นี้มิได้หมายถึงเงิน แต่หมายถึง “ความสำเร็จ” ดังนั้น ถ้าเป้าหมายของธุรกิจชีวิตเราคือความสำเร็จ เราคงต้องเริ่มบริหารชีวิตอย่างมีกลยุทธ์มากขึ้น คนหลายคนสูญเสียเวลา แห่งชีวิต ไปกับเรื่องที่ไร้สาระ ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปกับเข็มนาฬิกา ปล่อยให้โอกาสล่องลอยไปกับสายลมและแสงแดด คนหลายคนมีคำว่า “เสียดาย” อยู่เต็มหัว เพราะมารู้สึกตัวในเรื่องต่างๆ หรือคิดได้ก็สายไปเสียแล้ว กว่าจะรู้ว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ ก็เจ็บป่วยไปเรียบร้อยแล้ว กว่าจะรู้ว่าครอบครัวสำคัญก็มีปัญหาครอบครัวแตกแยกไปเรียบร้อยแล้ว กว่าจะรู้ว่าความสามารถยังไม่ถึง ก็ต่อเมื่อโอกาสดีผ่านไปแล้ว
เพื่อให้ชีวิตมุ่งไปสู่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของชีวิตคือความสำเร็จ เราคงต้องมีการบริหารชีวิตตามแนวทางการบริหารธุรกิจชีวิตอย่างจริงจัง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราไม่ได้ละเลย หลงลืม หรือแกล้งลืมทำบางสิ่งบางอย่างในชีวิตในเวลาที่ควรจะทำ พูดง่ายๆก็คือ ป้องกันคำว่า “เสียดาย” อย่าให้เกิดขึ้นกับชีวิตของเราเลย ผมจึงขอแนะนำแนวทางในการบริหารธุรกิจชีวิตดังนี้
1. กำหนดวิสัยทัศน์ของชีวิต (Life Vision)
เราต้องกำหนดเป้าหมายสูงสุดในชีวิตให้ชัดเจนว่าเราต้องการความสำเร็จอะไร เมื่อไหร่ เช่น ต้องการเป็นเจ้าของกิจการเมื่ออายุ 35 ปี ต้องการเป็นนักการเมืองเมื่ออายุ 40 ปี หรือต้องการมีเงินเก็บสัก 10-20 ล้าน ภายใน 10 ปี ฯลฯ คนหลายคนมักจะบอกว่า ไม่รู้จะกำหนดเป้าหมายชีวิตได้อย่างไร จะเริ่มต้นที่ไหน ผมขอแนะนำว่าการกำหนดวิสัยทัศน์ของชีวิตสามารถกำหนดได้ 2 ลักษณะคือ
ก) กำหนดจากความฝันของเราเอง ความฝันของเราอาจจะเกิดจากแรงดลใจบางอย่างในชีวิต หรือเกิดจากความยากลำบากในชีวิต เช่น บางคนฝันอยากทำงานมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็ก เพราะเคยเป็นเด็กกำพร้ามาก่อน
ข) กำหนดแบบอย่างความสำเร็จของผู้อื่น โดยเราอาจเลือกคนมาเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ให้กับตัวเอง หรืออาจจะกำหนดความสำเร็จของคนหลายคนรวมกันก็ได้ เช่น เราอยากเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จเหมือนนักเขียนบางคน หรือเราอยากเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กเหมือนเจ้าของธุรกิจบางคนที่ประสบความสำเร็จ
วิสัยทัศน์ของชีวิตเปรียบเสมือนดวงดาวบนท้องฟ้าที่ถึงแม้จะอยู่ห่างไกล แต่ก็สามารถสร้างพลังแสงสว่างให้กับเราได้ ในขณะเดียวกันวิสัยทัศน์ก็เปรียบเสมือนเข็มทิศที่จะนำพาชีวิตเราไปสู่ทิศทางที่ต้องการ โดยไม่ต้องเสียเวลาหลงทาง คนที่กำหนดวิสัยทัศน์ของชีวิตได้ชัดเจนย่อมได้เปรียบคนอื่นอย่างแน่นอน เพราะในแต่ละย่างก้าวของชีวิตย่อมเชื่อมโยงไปสู่เป้าหมาย และคงไม่ปล่อยให้ชีวิตก้าวออกนอกเส้นทางไปสู่เป้าหมายอย่างเด็ดขาด
2. วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง (SWOT Analysis)
เมื่อเรามีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนแล้ว เราก็ต้องกลับมาวิเคราะห์ตัวเราเองว่า ชีวิตเราส่วนไหนบ้างที่เป็น จุดแข็งจะสามารถนำพาเรา ไปสู่ จุดหมาย ที่กำหนดไว้ได้ มีจุดไหนบ้างที่เรายังต้องพิจารณาปรับปรุงเพื่อลดปัญหาอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างทาง เช่น เราต้องการเป็น เจ้าของธุรกิจที่ค้าขายกับต่างประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลก จุดแข็ง (Strengths) ของเราก็คือเรามีเงินลงทุนเพียงพอ เคยทำธุรกิจครอบครัว มาก่อน แต่จุดอ่อน (Weaknesses) ของเราคือ เราใช้ภาษาต่างประเทศไม่เก่ง หรือไม่ค่อยเข้าใจ วัฒนธรรมของ คนต่างชาติ
ในขณะเดียวกันเราก็คงจะต้องวิเคราะห์ว่าชีวิตของเรามีสภาพแวดล้อมภายนอกอะไรบ้างที่เอื้ออำนวย (Opportunities) และเป็นอุปสรรค (Threats) ในการเดินทางไปสู่จุดหมาย เช่น เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้าช่วยให้เราสามารถขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตได้ แต่เราจะต้องประสบกับปัญหาการกีดกันทางการค้าจากประเทศตะวันตกโดยเงื่อนไขทางการค้าหรือมาตรฐานสากลประเภทต่างๆ
การวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง โอกาสและปัญหาอุปสรรคในชีวิตนั้น จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเอง ยอมรับจุดบกพร่องของตัวเอง และพร้อมที่ จะพัฒนาให้ถูกต้องและเหมาะสมสอดคล้องกับเป้าหมายในชีวิตได้ ถ้าวิสัยทัศน์ของชีวิตคือ การเดินทางไปเชียงใหม่โดย รถยนต์ภายในเวลา 10 ชั่วโมง การวิเคราะห์ SWOT ของชีวิตก็เปรียบเสมือนการตรวจสภาพของรถยนต์ว่าสามารถวิ่งทางไกลได้หรือไม่ เครื่องร้อนเร็วหรือช้า ทำความเร็วได้กี่กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถวิ่งขึ้นเขาได้หรือไม่ มีส่วนไหนของรถที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาระหว่างทางได้บ้าง รวมถึง การวิเคราะห์ว่าเส้นทางที่เราไปนั้นมีบ้านคนมากหรือไม่ มีปั๊มน้ำมันมากหรือน้อย โอกาสที่ฝนจะตกมีมากหรือไม่
3. กำหนดปัจจัยสู่ความสำเร็จ (Critical Success Factors)
การกำหนดปัจจัยสู่ความสำเร็จหมายถึง การกำหนดว่าอะไรคือตัวที่สำคัญที่สุดที่จะนำเราไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ เช่น เราต้องการเป็นเจ้าของกิจการ ปัจจัยสู่ความสำเร็จอาจจะประกอบด้วย
  • เงินลงทุน เพราะถ้าเราไม่มีเงินเราคงเป็นเจ้าของกิจการไม่ได้
  • ความรู้ด้านการจัดการ เราในฐานะเจ้าของกิจการจะต้องมีความรู้ในธุรกิจนั้นๆ เพียงพอ
  • ลูกค้า เราต้องมีกลุ่มลูกค้าที่สนับสนุนสินค้าหรือบริการของเรา
  • บุคลากร ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการทำงานให้กับเรา
  • เทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้เรามีความได้เปรียบในการแข่งขัน
แต่ถ้าเป้าหมายชีวิตของเราคือ การเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง ปัจจัยสู่ความสำเร็จคือ
  • ความรู้ เพราะถ้าขาดความรู้คงไม่สามารถเขียนหนังสือหรือบทความได้
  • เทคนิคการเขียน เป็นศิลปะการเขียนที่มีเอกลักษณ์ช่วยเพิ่มสีสรรให้กับสิ่งที่เขียน
  • ผู้อ่าน เป็นผู้ที่บ่งบอกว่างานเขียนของเราประสบความสำเร็จหรือไม่
  • ประสบการณ์ คือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราก้าวไปสู่เส้นทางนักเขียน
เราจะเห็นว่าการมีวิสัยทัศน์เป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จนั้น ถึงแม้เงินลงทุนจะมีความจำเป็นแต่ก็ไม่ถือว่าเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญ ไม่เหมือนกับการเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ดังนั้น การกำหนดปัจจัยสู่ความสำเร็จในชีวิตนี้ จะช่วยให้เรามองเห็นความในชีวิตนี้ เราจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งใดมาก ให้ความสำคัญกับสิ่งใดน้อย จะช่วยให้เราสามารถจัดลำดับความสำคัญในชีวิตได้อย่างดียิ่งขึ้น เราจะเห็นว่าปัจจัยสู่ความสำเร็จของนักกีฬาส่วนมากต้องประกอบด้วยการมีสุขภาพที่แข็งแรง ดังนั้น การดูแลสุขภาพจึงเป็น เรื่องที่สำคัญที่สุด สำหรับความสำเร็จประเภทนี้ ในขณะที่ความสำคัญอันดับแรกๆของคน ที่เป็นนักเขียนคือการแสวงหาความรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา
4. กำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ (Strategic Aim)
เมื่อทราบเป้าหมายสูงสุดของชีวิตและทราบจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองแล้ว ก็ต้องเริ่มกำหนดเป้าหมายในเรื่องต่างๆ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น ถ้าต้องการเป็นเจ้าของกิจการ เราจะต้องมีเงินทุนอย่างน้อย 1 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเรามีเงินทุนเพียง 5 แสนบาท เราหลือเวลาอีก 5 ปีในการหาเงินทุนให้ครบ ดังนั้น เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในแง่ของเงินทุนเราคือ 5 แสนบาทภายใน 5 ปี
การกำหนดเป้าหมายกลยุทธ์ให้กับชีวิตในแต่ละด้าน จะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมได้ชัดเจนขึ้นว่าปัจจัยตัวไหนที่ยังอยู่ห่างจากเป้าหมาย ปัจจัยตัวไหนที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถจัดลำดับความสำคัญของการไปสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น เช่น เป้าหมายทางด้านเงินทุนไม่ค่อยยากนักเพราะมีเวลาเก็บเงินอีกหลายปี แต่เป้าหมายทางด้านความรู้และประสบการณ์ในการจัดการทางธุรกิจ เราอาจจะยังห่างจากเป้าหมายอยู่มาก ดังนั้น พฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของเราก็จะต้องทุ่มเทเวลา ในการหาความรู้และประสบการณ์มากกว่าการหาเงินทุน
5. กำหนดทางเลือก (Strategic Option)
ในแต่ละเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ย่อยๆ ในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็น เป้าหมายด้านเงินทุน เป้าหมายด้านความรู้และประสบการณ์ เราจะต้องกำหนด ทางเลือกขึ้นมา เพื่อให้มีความเหมาะสมกับตัวเราให้มากที่สุด เช่น เป้าหมายย่อยทางด้านเงินทุน เราอาจจะกำหนดทางเลือก ในการหาเงินลงทุนดังนี้
  • กู้เงินจากสถาบันการเงิน เงื่อนไขคือเราต้องมีหลักทรัพย์หรือการค้ำประกัน
  • กู้ยืมเงินจากญาติพี่น้อง เงื่อนไขคือญาติพี่น้องเรามีเงินหรือไม่ เขาไว้ใจเราหรือไม่
  • เก็บสะสมเงินด้วยตัวเอง เงื่อนไขคือต้องใช้เวลานาน
  • ระดมทุนจากหุ้นส่วน เงื่อนไขคือ กิจการนั้นต้องมีผู้ถือหุ้นหลายคน
คนหลายคนที่มักจะตายน้ำตื้นก็คือมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน วิเคราะห์ตัวเองดี มีการกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ไว้อย่างดี แต่พอมาถึง การหาทางเลือก คิดไม่ออก ไม่สามารถหาทางเลือกให้กับตัวเองได้ เพราะคนส่วนมากมักจะคิดในเชิงลบ เช่น คงไม่ไปไม่ได้หรอก เพราะต้องลงทุนเป็นล้าน คงจะยากนะที่จะไปขอกู้เงินเพราะเราไม่มีหลักทรัพย์ คนประเภทนี้มักจะตัดสินความคิดของตัวเองด้วยตัวเอง ทั้งๆที่บางคนคิดอาจจะเป็นจริงขึ้นมาได้ ถ้าเราได้ลองลงมือทำจริงๆ เราต้องทดลองทำก่อนแล้วค่อยตัดสินใจว่าใช่หรือไม่ใช่
เราคงเคยได้รับทราบประวัติของเจ้าของธุรกิจบางคนที่เริ่มต้นจากศูนย์ ไม่มีเงิน แต่มีความพยายาม มีความขยัน มีความสุจริต มีน้ำใจ วันหนึ่งสิ่งใดๆที่เขาเคยทำในอดีตอาจจะส่งผลต่อการแสวงหาทางเลือกของเขาได้ เช่น มีชายคนหนึ่งยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เดินไปขอกู้เงินที่ไหนก็ไม่มีใครให้เพราะไม่มีหลักทรัพย์อะไรเลย จนมาวันหนึ่งเขาเดินไปขอกู้เงินที่ธนาคารๆหนึ่ง พอเข้าไปคุยกับผู้จัดการแล้ว ผู้จัดการท่านนั้นไม่ได้ให้เขากู้เงิน ธนาคารหรอก แต่ให้เขากู้เงินส่วนตัวของเขาเอง เพราะเมื่อหลายปีก่อนผู้จัดการธนาคาร ผู้นี้เคยประสบอุบัติเหต ุเกือบเอาชีวิตไม่รอด ถ้าไม่ได้ชายคนนี้ช่วยเหลือไว้
จากเรื่องนี้ผมอยากให้ทุกคนคิดอยู่เสมอว่าทุกเส้นทางที่เราต้องการจะไปถึงนั้น มีทางออกอยู่เสมอ เพียงแต่ทางออกสำหรับชีวิตของเราเอง อาจจะแตกต่างจากคนทั่วไป อาจจะแตกต่างจากคนอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเบื้องหน้าและเบื้องหลังชีวิตของคนแต่ละคน จากตัวอย่างนี้ จะเห็นว่า ไม่ใช่คนทุกคนจะได้รับเงินกู้จากผู้จัดการธนาคารคนนี้ บางคนอาจจะได้รับเงินกู้จากภรรยาผู้จัดการธนาคาร บางคนอาจจะได้รับเงินให้เปล่า จากคนบางคน บางคนอาจจะได้คนมาร่วมลงทุนก็เป็นไปได้ ดังนั้นจะขอให้ทุกคนเชื่อว่า “ทุกปัญหามีทางออกเสมอ” แต่จะต่างกันตรง ที่มีความยากง่าย เร็วหรือช้าเท่านั้น
6. กำหนดแผนกลยุทธ์ (Strategic Plan)
เมื่อเราได้เลือกทางเลือกเชิงกลยุทธ์ในด้านต่างๆ ไปแล้ว เช่น เราจะหาเงินได้โดยการเก็บออมด้วยตนเอง เราจะแสวงหาความรู้เพิ่มเติม โดยการศึกษาต่อปริญญาโทการบริหารธุรกิจ เราจะหาประสบการณ์โดยเข้าไปทำงานกับธุรกิจครอบครัวที่เป็นมืออาชีพ เราจะอ่านหนังสือ ด้านการทำธุรกิจแบบมืออาชีพให้มากขึ้น เราต้องนำเอากลยุทธ์ในแต่ละด้าน มาจัดทำเป็น แผนเชิงกลยุทธ์ว่าในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต เราจะทำอะไรก่อนหลัง อะไรที่ทำควบคู่กันไปได้ พูดง่ายๆก็คือการเอาสิ่งต่างๆมาจัดทำตารางการดำเนินชีวิตให้ชัดเจนมากขึ้นว่าเราจะทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร นั่นเอง สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในเรื่องของการวางแผนเชิงกลยุทธ์ของชีวิตคือ ต้องมีแผนสำรอง (Contingency Plan) กรณีที่แผนที่วางไว้ไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ
7. นำไปปฏิบัติตามวงจร PDCA
เมื่อเรากำหนดแผนงานชีวิตไว้เรียบร้อยแล้ว (Plan) จึงจะลงมือนำไปปฏิบัติจริง (Do) จะต้องมีการตรวจสอบเป็นระยะๆ ว่าสิ่งที่ได้ลงมือทำไปนั้น เป็นไปตามแผนและเป้าหมายหรือไม่ (Check) หลังจากนั้นถ้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุง ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย (Action) ซึ่งเราจะต้องคำนึงถึงวงจรนี้อยู่ตลอดเวลา วงจร PDCA นี้ใช้ได้ทั้งวงจรของแผนใหญ่ของชีวิต และแผนสนับสนุนย่อยๆ เช่น แผนด้านการเงินก็ต้องใช้ PDCA แผนด้านการหาความรู้เพิ่มเติม ก็ต้องใช้วงจร PDCA เช่นเดียวกัน
จากแนวทางดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงจะสามารถจุดประกายให้ท่านผู้อ่านได้ลองหยุดคิดพิจารณาดูนิดหนึ่งว่า ชีวิตของเราได้ถูกกำหนดไว้เป็นระบบ และเป็นขั้นเป็นตอนหรือไม่ ทำไมเราจะมายืนอยู่ตรงจุดนี้ของชีวิตได้ เป็นเพราะเรา วางแผนธุรกิจชีวิตไว้ก่อนล่วงหน้าดี หรือเพราะดวงชะตาฟ้าลิขิต หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ แล้วช่วงเวลาแห่งชีวิตที่ยังเหลืออยู่ เราจะยังคงใช้วิธีการเดิมๆเดินไปสู่จุดหมายหรือเราจะต้องกำหนดแผนกลยุทธ์ชีวิตเสียใหม่ เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่สำคัญ และไม่จำเป็นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เราต้องเชื่อมั่นเสมอว่าผู้ที่วางแผนชีวิตได้ดีกว่า ย่อมมีโอกาสไปสู่เส้นชัยเหนือคนอื่นมากกว่าอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น